เมื่อไม่นานมานี้ Intel Gen 11 ได้ถูกเปิดตัวไป และวางขายพร้อมกับเมนบอร์ด Z590 แต่ภายในเวลาไม่นานเท่าไหร่ ก็ได้เปิดตัว Intel Gen 12 และ เมนบอร์ดรุ่นใหม่ Z690 เป็นที่เรียบร้อย
ซึ่งนั่นหมายความว่า Intel Gen 11 และ เมนบอร์ด Z590 รุ่นเก่านั้นมีอายุที่เรียกว่า สั้นจัด! ซึ่งหากใครที่ติดตามข่าว Intel มาโดยตลอด คงทราบดีว่า Intel นั้นมีปัญหาภายในและได้ทำการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร ซึ่งทำให้ Gen 11 ที่อายุสั้นมาก ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจสักเท่าไหร่ ซึ่งหากใครยังไม่ทราบข้อมูลของ Intel Gen ก่อนหน้า แนะนำให้กดอ่านตรงนี้ก่อน >> เจาะลึก!! เมนบอร์ด Z590 กับ Intel Core Gen 11
Intel นอนกินมาไม่ต่ำกว่า 7 ปี โดยที่ไม่ได้ขยับอะไรมากเลย โดยกินกับเทคโนโลยีเก่าๆมาเรื่อยๆ ซึ่งครั้งนี้ต่างออกไป ทุกคนต้องแปลกตากันอย่างแน่ เพราะการจัดเต็มครั้งนี้ มันช่างอัดแน่นเทคโนโลยีแบบจัดหนักเสียเหลือเกินกว่าจะเขียนให้จบภายในบทความเดียว เราจึงขอแยก เจาะลึกข้อมูล เมนบอร์ด Z690 เอาไว้ในบทความนี้ ส่วน ข้อมูล เจาะลึก CPU จะขอเอาไว้ในบทความนี้แล้วกัน >> อ่านเลย เจาะลึก CPU
1. เมนบอร์ด Intel Gen 12 คาดว่าจะมีรุ่นย่อยกี่รุ่น
ชิปเซ็ท Z690 ในครั้งนี้ในเรื่องการออก lineup ก็ไม่แตกต่างกันกับรุ่นเก่าสักเท่าไหร่ โดย Z + 690 คือชื่อเรียกชิปเซ็ทใหม่ล่าสุดของ Intel
- โดยมีรหัสหลักเป็นตัวอักษร คือ Z บ่งบอกถึงรหัสสูงสุดของชิปเซ็ท Intel , H บ่งบอกถึงรหัสรองของชิปเซ็ท Intel (ซึ่งปัจจุบันรู้สึกว่าจะน้อยลง) , B บ่งบอกถึงรหัสขนาดกลางของ Intel , H อีกตัว บ่งบอกถึงรหัสประหยัด
- รหัสรอง จะเป็นเลขบ่งบอกถึง Gen ของเมนบอร์ด เช่น 600 คือ Gen ล่าสุด , 500 คือ Gen ก่อนหน้าเป็นต้น
- รหัสสองตัวท้าย คือการบ่งบอกถึงระดับของเมนบอร์ด เมื่ออ่านคู่กับรหัสหลักที่เป็นตัวอักษร จะเข้าใจยิ่งขึ้น
- เช่น Z 690 (รหัส Z + 600 รุ่นใหม่ + 90 ตัวท๊อป)
- เช่น B 660 (รหัส B + 600 รุ่นใหม่ + 60 ตัวกลาง)
- เช่น H 610 ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะมีออกมาหรือไม่ (รหัส H + 600 รุ่นใหม่ + 10 ตัวประหยัด)
ซึ่งทั้งหมดนี้ แอดคาดว่าน่าจะมีประมาณ 3 รุ่น การแบ่งชิปเซ็ทเป็นลักษณะนี้ เพื่อจัดลำดับขั้นว่า ชิปเซ็ทไหนแรงที่สุด ชิปเซ็ทประหยัดรองลงมา และเวลาเราทำการเลือกซื้อ ผู้ผลิตเมนบอร์ดก็มักจะจัดคุณสมบัติดีๆ ให้กับชิปเซ็ทที่แรงที่สุดด้วยเช่นกัน ส่วยชิปเซ็ทรองลงมา ก็จะมีราคาถูกลงและถูกตัดลดคุณสมบัติบางอย่างจากเมนบอร์ดรุ่นท๊อปด้วย
2. เมนบอร์ด LGA ของ Intel Core I มีมาทั้งหมดกี่รุ่นแล้ว
ตลาดเวลาที่ผ่านมา Intel Core I รุ่นเก่าๆ ได้ทำการเปลี่ยน Socket ไปไม่รู้กี่ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งก็เหมือนจะเปลี่ยนแบบกวนโอ๊ยเสียจริง
ซึ่งใน Socket ของเมนบอร์ด ก็จะมี Pin ทองแดงสำหรับเชื่อมต่อกับ CPU เป็น Pin เล็กๆอยู่ เรียงกันเป็นจำนวนเท่ากับชื่อ LGA นั่นเอง เช่น LGA1700 ก็แปลว่ามี Pin ทั้งหมด 1700 Pin ทองแดงอยู่ใน Socket ซึ่งถ้าหาก Pin ไม่ตรงกับรุ่นของ CPU ก็จะไม่สามารถติดตั้ง CPU ได้และ การกวนโอ๊ยก็คือ การเปลี่ยน Pin เพื่อบีบให้ผู้ใช้ต้องซื้อเมนบอร์ดใหม่
ครั้งที่ 1 LGA 1156 (Gen 1) – LGA 1155 (Gen 2 & 3)
เมนบอร์ด Intel Core I Gen แรกเริ่มสุดเลย ต้องใส่กับ Socket LGA1156 Pin
พอรุ่นต่อไป กลับมี 1155 Pin (ลดไป 1 Pin) แบบนี้ Gen 1 ก็ใช้ไม่ได้ และจึงใช้งานได้ 2 Gen คือ Gen 2 กับ 3 เท่านั้น พอ CPU Gen 4 เปิดตัว กลับต้องไปใช้กับเมนบอร์ด LGA 1150 Pin รุ่นใหม่อีก!
ครั้งที่ 3 LGA 1150 (Gen 4) – LGA 1151 (Gen 6 & 7)
พอ Gen 4 อยู่ได้สักพักสามารถใช้ร่วมกันกับ Gen 5 ซึ่งไม่มีวางขายทั่วไป (แล้วพี่จะมีมาเพื่อ!) เท่ากับว่า LGA 1150 ใช้ใน Gen 4 ได้อย่างเดียว และ Gen 6-7 ก็ได้ทำการเปลี่ยน Pin อีกแล้ว
ซึ่งใน Gen 6 และ 7 เนี่ยแหละครับ ก็เปลี่ยน Pin เป็น LGA 1151 (เพิ่มมา 1 Pin ดูมันสิ!!) และทำให้ไม่สามารถใช้ได้กับ Gen 4 และก็ไม่สามารถใช้ได้กับ Gen 8 ด้วย!
ครั้งที่ 5 LGA 1151 V2 (Gen 8 & 9)
เพราะคราวนี้ เหมือนกับว่ามันหมดมุข จึงเล่นง่ายๆ ด้วยการเปลี่ยนรูปแบบหน้า Socket เล็กน้อย แต่ Pin ยังคงเป็น 1151 เท่าเดิม โดยกวนขั้นสุดด้วยการตั้งชื่อมันว่า LGA 1151 V2 ซะเลย (กวนส้งติงจริง)
ถึงกับขนาดมีผู้ใช้รายหนึ่ง ได้ลอง Mod CPU รุ่นใหม่ ไปใส่ใน Socket รุ่นเก่าของ Gen 6 Gen 7 ปรากฏว่าสามารถทำได้!
นั่นหมายความว่า Intel จงใจที่จะเลี้ยงการอัพ CPU ให้ผู้ใช้ต้องเสียงเงินซื้อเมนบอร์ดใหม่เท่านั้น ประจวบเหมาะกับ AMD เห็นช่องทางตรงนี้ จึงโจมตี้ด้วย การออก เมนบอร์ด AM4 รุ่นเดียว แต่สามารถอัพเกรด CPU ได้มาก 3-4 Gen โดยไม่ต้องซื้อเมนบอรืดใหม่ ทำให้ผู้คนเริ่มเอือมระอากับ Intel จากนั้นเป็นต้นมา
ครั้งที่ 6 LGA 1200 (Gen 10 & 11)
และสุดท้าย Gen 9 ก็สามารถร่วมกับ Gen 8 ได้ แต่ Gen 10 กับ Gen 11 ก็ยังคงต้องเปลี่ยนเมนบอร์ดเป็น 1200 Pin อยู่ดี แต่คราวนี้ไม่ใช่เหตุผลทางการตลาดแล้ว เป็นเหตุผลด้านวิศวกรรมแทน แต่ตอนนั้นก็แก้ตัวไม่ทัน เพราะ AMD ได้ดึงผู้ใช้ที่หมดความศรัทธา เกินกว่าครึ่งไปเรียบร้อยแล้ว!
3. เมนบอร์ด Intel Gen 12 เปลี่ยน Socket ใหม่อีกครั้ง!
ใครที่คิดว่าจะอัพเกรดได้ ของให้ล้มเลิกความฝันได้เลย เพราะ Intel Gen 12 ในครั้งนี้ มาพร้อมเมนบอร์ด LGA1700 ซึ่งมี Pin ที่เยอะกว่ารุ่นเก่าอยู่แบบเห็นได้ชัดเลย (ถือว่าไม่กวน) และมาพร้อมเหตุผลที่คุณไม่สามารถอัพเกรดได้เพราะเป็นเรื่องของ เทคโนโลยีการผลิตของ Intel Gen 12 นั้นเป็นแบบ 10nm นั่นเอง รวมถึง ผู้บริหารคนใหม่ ก็คงต้องการเริ่มตั้งต้นใหม่ และไม่ต้องการใช้ Socket ล้าสมัยของผู้บริหารคนก่อนอีกแล้ว ซึ่งในอนาคต อาจจะซัพพอร์ตการอัพเกรด CPU โดยไม่ต้องเปลี่ยนบอร์ดใหม่แบบ AMD ได้หลาย Gen จึงจัดหนักมาทั้งหมด 1700 Pin เลย ก็เรียกได้ว่า ค่อนข้างสมเหตุสมผล(ฟังขึ้นอยู่)
ซึ่งไอ้เมนบอร์ด LGA 1700 นี้ก็ต้องมีขนาดใหญ่ขึ้น และตัว CPU ก็ใหญ่ขึ้นแบบเห็นได้ชัด เรียกว่า อยู่ตรงกลางระหว่าง LGA 115x รุ่นเก่าๆ กับ LGA 2066 ของ CPU รุ่น Hi-End เลย
ดังนั้นด้วยความแตกต่างนี้ Heatsink รุ่นเก่า จึงอาจจะไม่สามารถใช้ได้กับ LGA1700 ได้
หากใครที่มี Heatsink CPU Cooling หรือ ชุดน้ำรุ่นเก่า ก็อาจจะต้องอัพเกรดมันใหม่ด้วย เพราะ มันอาจจะไม่สามารถใส่ได้ใน Intel Gen 12 นี้นั่นเอง ก็นับว่าเป็นอะไรที่ต้องเสียเงินเยอะกว่าเดิมสักหน่อย ซึ่งตรงนี้ก็มีผู้ผลิตบางราย ได้เตรียมชุดอัพเกรดสำหรับชุดน้ำของตนเอาไว้ ให้ผู้ที่ใช้ชุดน้ำเก่า สามารถซื้ออัพเกรดมาช่วยติดตั้งชุดน้ำเก่าใน LGA1700 ได้ ซึ่งก็ถือว่าประหยัดไปได้เยอะ
ผู้ผลิตที่จะมีอัพเกรด ให้ CPU Cooling รุ่นเก่า ให้ใส่กับ LGA 1700 ได้
- Corsair
- Noctua
- Be Quiet!
- Artic
- Cooler Master
- NZXT
- ASUS
ซึ่งหากชุดน้ำของคุณใช้แบรนด์ต่อไปนี้ก็สามารถเช็ครุ่นที่ตนเองใช้กับทางเว็บไซต์ได้ครับ ว่าจะมีชุดอัพเกรดให้รึเปล่า ส่วนใครใช้แบรนด์อื่นๆ นอกจากนี้ ก็อาจจะต้องรออัพเดท หรือทำใจแล้วเตรียมตัวซื้อชุดน้ำรุ่นใหม่เอง
4. CPU Intel Core I Gen 12
CPU Intel Core I Gen 12 ที่จะนำมาติดตั้งใน LGA1700 นี่ก็ไม่ธรรมดา หลังจากที่ Intel ได้ใช้แต่เทคโนโลยีการผลิตแบบ 14nm มานานนับ 7 ปี จนในที่สุดก็ยอม Move On ออกจากเทคโนโลยีเก่าแก่นี้ได้เสียที (แต่ 7 ปีของคนบางคน ทำไมมันถึงไม่ Move ออกเสียที)
ซึ่งข้อเสียของ เทคโนโลยีการผลิตแบบ 14nm ก็มีให้เห็นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น
- คอร์ที่ดูเหมือนจะเป็นทางตันที่ 10/20 คอร์
- การที่อัดคล๊อกได้มาก แต่ความแรงก็ไม่ได้มากตาม
- ทรานซิสเตอร์ที่อัดไปได้น้อยกว่ารุ่นใหม่ และล้าหลังกว่าค่ายอื่น
- รับประทานไฟเป็นอาหารเช้า กลางวัน เย็น
- ร้อนแบบโครตบัดซบ! (ขออภัย ต้องพูดแบบนี้จริงๆ เพราะมันร้อนมากจริงๆ รุ่นท๊อป ชุดน้ำ 3 ตอนยังแทบจะเอาไม่อยู่)
แย่ที่สุดก็น่าจะเป็น ยิ่งอัดคอร์มากเท่าไหร่ หากรันด้วยคล๊อกสูงยิ่งร้อนทวีคูณ ซึ่งการอัดคอร์เป็นสิ่งที่ผู้ใช้ยุคนี้ต้องการ CPU คอร์เยอะๆเป็นอย่างมาก
Intel Gen 12 จึงแก้ไขปัญหานี้ด้วยการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต เป็นแบบ 10nm SuperFin ซึ่งปรับปรุงโครงสร้างของ CPU ครั้งใหญ่ ให้แตกต่างจากรุ่นก่อนหน้า เช่น
- เปลี่ยนโครงสร้างทางวิศวกรรมเป็น CPU ให้เป็นแบบ Hybrid ประกอบไปด้วย Core(P)ประสิทธิภาพสูง/Core(E)ประหยัดพลังงาน จากเดิมที่มีเพียง Core/Thread
- คอร์เริ่มต้นใน i5 คือ 10 Core (6P + 4E) / 16 Trade
- Intel เผยว่า ทรานซิสเตอร์อัดแน่นมากกว่า เทคโนโลยี 7nm ของ TSMC
- ปรับปรุงเทคโนโลยี HyperThreadเสถียรมากขึ้นด้วยค่า IPC ดีกว่ารุ่นเก่า 19%
- การทำงานแบบ Hybrid ด้วย Thread Director สลับการทำงานระหว่างคอร์ P และ คอร์ E อย่างเหมาะสม
- TDP ต่ำมากสุด 9W ถึง 125W จากเดิม ต่ำสุดที่ 12W
ค่า TDP คือค่าการปลดปล่อยความร้อนของอุปกรณ์ ยิ่งต่ำแปลว่ายิ่งมีความร้อนน้อย ส่งผลต่อประสิทธิภาพการระบายความร้อน และเราสามารถอนุมานไปถึงการรับประทานไฟของอุปกรณ์ได้ ยิ่งค่า TDP ต่ำ แปลว่ารับไฟ(พลังงาน) มาต่ำเช่นกัน
เท่าที่ดูจากเสปคเบื้องต้นก็ค่อนข้างน่าสนใจเลยทีเดียว ว่าการทำงานแบบ คอร์ P และ คอร์ E จะช่วยเพิ่มการทำงานของโน๊ตบุคส์ให้ยอดเยี่ยมขึ้นเลยทีเดียว แต่สำหรับในคอมพิวเตอร์ PC อาจจะยังไม่เห็นผลแน่ชัดว่าหากทั้งสองคอร์ ทำงานร่วมกันอย่างเต็มประสิทธิภาพจะเป็นอย่างไร ซึ่งตรงนี้อาจจะต้องรอผลทดสอบจากหลายสำนัก ว่าดีขึ้นมากน้อยกว่า Gen ก่อนหน้าเพียงใด
5. รองรับแล้ว Ram DDR5 รุ่นใหม่ล่าสุด
อย่างที่ทราบกันว่า DDR5 ได้เปิดตัวมาสักพักแล้ว และจะถูกนำมาใช้งานครั้งแรกในเมนบอร์ด Intel Gen 12 นั่นเอง ซึ่ง Ram DDR5 นี้ก็มีการปรับปรุงที่น่าสนใจอยู่อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น
- Clock Speed เริ่มต้น 4800 Mhz (จากเดิม 2133 Mhz)
- ความจุเริ่มต้น 16GB (จากเดิม 4GB) และสามารถใส่เพิ่มได้สูงสุดถึง 128GB
- ลดการใช้พลังงานลงเหลือแบบต่ำสุดๆ เพียงแค่ 1.1V จากเดิม 1.2V (ง่ายต่อการ OC มาก)
- ปรับปรุงและย้ายชิป PMIC จากเมนบอร์ด มาไว้ในตัว RAM ทำให้การจัดการพลังงานดีขึ้นและลดสัญญาณรบกวนลงทำให้สเถียรขึ้น
ซึ่งถ้าดูกันคร่าวๆแล้วจะเห็นว่าเสปคนั้นโหดเกินตัวไปกว่าเดิมเยอะพอสมควรเลย ธรรมดา DDR4 ก็จัดว่าแรงแบบตามองไม่ค่อยเห็นแล้ว DDR5 มาแรงแบบนี้ยิ่งทิ้งฝุ่นไปใหญ่ สเปคเรียกได้ว่า อนาคตเลยทีเดียว ซึ่งหากใครยังไม่ได้อ่านข้อมูลเชิงลึกของ DDR5 >> สามารถอ่านต่อได้ที่นี่เลย <<
6. รองรับ PCI-E 5.0 รุ่นใหม่กว่า!
เป็นเรื่องที่น่าแปลกมากที่การอัพเกรดเทคโนโลยี PCI Express เรียกว่า แทบจะขี่กันเลยทีเดียว เพราะ PCI-E 4.0 ทาง AMD เองก็ได้นำมาใช้ครั้งแรงในเมนบอร์ด X570 และ B550 ซึ่งก็เพิ่งจะได้ใช้แค่ Gen เดียวเท่านั้น เรียกได้ว่ายังไม่ทันแพร่หลาย
ทาง Intel เปิดตัว Z690 ที่มาพร้อมกับ PCI-E 5.0 ซึ่งเหนือยิ่งกว่า มาขี่ AMD ไปอีก เรียกได้ว่า PCI-E 4.0 นั้นอายุสั้นมากเลยก็ว่าได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างประหลาดและพบเห็นได้น้อยในวงการคอมพิวเตอร์พอสมควร ก็นับว่ายิ่งแข่งขันกันมาก ก็ยิ่งเป็นผลดีต่อผู้บริโภค (ฮิฮิ)
ซึ่งสเปคคร่าวๆของ PCI-E 5.0 นั้นก็ไม่ได้มีความผิดแปลกไปจากที่คาดไว้เท่าไหร่ คือ
- มีการอัพเกรดแบนธ์วิทด์ เพิ่มขึ้นจาก PCI-E 4.0 สองเท่า สูงสุด 128GB/S
- เทคโนโลยี Retimer เพิ่มประสิทธิภาพระหว่าง CPU และอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อผ่าน PCI-E อย่าง GPU , Storage
- สามารถให้พลังงาน GPU สูงถึง 600W ด้วย Power Connect ที่เล็กลง
และสำหรับใครที่ยังไม่เคยแม้แต่จะ รู้จักหรืออ่าน PCI-E 4.0 มาก่อนเลย >> ก็อัพเดทได้ตรงนี้เลย << แนะนำว่า อ่านจาก PCI-E 4.0 ไปก่อน เพราะจะมีการพูดถึง 3.0 ที่เราๆใช้กันในปัจจุบันด้วย พอเข้าใจแล้วก็มาอ่าน 5.0 ต่อ ซึ่งในด้านสเปคเต็มที่อ่านแล้วจะทำให้เข้าใจ PCI-E 5.0 มากยิ่งขึ้น >> กดตรงนี้เลย
สรุป!! ควรอัพเกรดหรือไม่
- หากต้องการใช้ CPU Intel Core i Gen 12 ก็จำเป็นที่จะต้องซื้อ เมนบอร์ดใหม่นี้ เพราะจะได้รับ LGA1700 มาติดตั้ง CPU นั่นเอง
- หากต้องการใช้ DDR5 และ PCI-E 5.0 จริงๆ ก็จำเป็นต้องซื้อเมนบอร์ด Z690 รุ่นใหม่นี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
- สำหรับคนที่จัดสเปคใหม่ เมนบอร์ด Z690 ยังคงเป็นเมนบอร์ดที่มาพร้อมกับฮาร์ดแวร์อื่นๆ ที่รุ่นใหม่มากๆ ทำให้อุปกรณ์อย่างเช่น DDR5 หรือ SSD PCI-E 5.0 นั้นยังมีราคาโหดอยู่ ใครต้องการย่อมเยา ต้องรออย่างแน่นอน
- สำหรับคนที่ต้องการอัพเกรดจากของเดิม มีข่าวว่า เมนบอร์ดรุ่นรอง อย่าง B660 จะยังเป็นเทคโนโลยีเก่า คือ ไม่รองรับ PCI-E 5.0 และ DDR5 ซึ่งก็เป็นผลดีต่อผู้ที่ต้องการราคาย่อมเยา เพราะเราสามารถใส่ DDR4 กับ SSD PCI-E 4.0 ซึ่งเราก็อาจจะซื้อแค่ เมนบอร์ดกับ CPU ใหม่ เท่านี้ก็ถือว่าเพียงพอสุดยอดแล้ว
- หากต้องการใช้ เทคโนโลยีดั้งเดิมอื่นๆ เช่น DDR4 ซึ่งจัดว่าเป็นปลายยุค จะได้ความเร็วเริ่มต้นใกล้เคียง DDR5 ที่เริ่มต้น , PCI-E 4.0 และ PCI-E 3.0 รวมถึง WiFi 6E , Bluetooth 5.2 ซึ่งใน Z590 ก็มี ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องอัพ ให้รออีกสัก 1 ปี ราคาน่าจะนิ่งขึ้นเยอะ
- ส่วน CPU ต้องบอกว่ามันคือยุคใหม่ของ Intel ซึ่งแตกต่างจาก Intel Core Gen 11 กับ Gen 10 อย่างแน่อน ยังไงก็ต้องแรงกว่ามากครับ อีกทั้งยังมีคอร์ที่น่าสนใจกว่ารุ่นเดิมเยอะ แต่จะแรงกว่ามากกี่ % ต้องรอผลเทสกันต่อไป
หากใครสนใจจัดเมนบอร์ด Z690 แอดได้รวมรวมสเปคและความแตกต่างส่วนหนึ่งให้เรียบร้อยแล้ว กดดูที่ลิงค์ด้านล่างได้เลย อย่าลืมเก็บโค้ดส่วนลด ก่อนไปซื้อล่ะ!
หากชอบบทความของเรา สามารถให้กำลังใจได้ด้วยการ
กดไลค์ GagangTech และติดตามช่อง Youtube GagangTech
– แล้วไว้เจอกันใหม่ ในบทความหน้า สวัสดีครับ –