ต้องบอกเลยว่าในปี 2022 ที่กำลังจะถึงนี้ มีเทคโนโลยีทีอัพเกรดก้าวกระโดด ที่น่าสนใจ รอจ่อเปิดตัวอยู่อีกเป็นจำนวนมาก
“หนึ่งในนั้นก็คือ แรม DDR5 นั่นเอง”
RAM และ DDR คืออะไร?
แรม (Random Access Memory: RAM) นั้นเป็นอุปกรณ์จำพวกเดียวกับอุปกรณ์แบบ Memory หรือ หน่วยความจำนั่นเอง เพียงแต่ แรม นั้นเป็นหน่วยความจำแบบชั่วคราว ที่ต้องใช้ไฟฟ้าล่อเลี้ยง ถึงจะอ่านเขียนข้อมูลได้
แรม (RAM) เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญในคอมพิวเตอร์ ชนิดที่ว่า “ขาดไม่ได้ ” เพราะหน้าที่ของแรมคือ เป็นทางผ่านสำหรับรับส่งข้อมูลจากอุปกรณ์ อื่นๆ ไปยัง หน่วยประมวลผล เพราะอุปกรณ์ในคอมพิวเตอร์ ไม่ได้ทำงานด้วยความเร็วที่เท่ากัน จึงจำเป็นต้องอาศัย แรม ในการพักข้อมูลไว้ เพื่อให้การส่งต่อข้อมูลของแต่ละอุปกรณ์นั้นเป็นไปด้วยความลื่นไหลนั่นเอง
แรมในคอมพิวเตอร์ที่เราๆใช้กันอยู่ นั้นเป็นแรมแบบ DDR SDRAM เป็นแรมสำหรับคอมพิวเตอร์ทั่วไป หากเป็นแรมสำหรับงานเฉพาะทาง จะมีชื่อเรียกและสเปคที่แตกต่างกัน เช่น แรมสำหรับการ์ดจอ จะเรียกว่า GDDR VRAM เป็นต้น
RAM แบบ DDR SDRAM ถูกอัพเกรดมากี่ครั้งแล้ว?
RAM แบบ DDR SDRAM
โดยตั้งแต่เปลี่ยนแปลงจาก SDRAM เป็น DDR SDRAM นั้นก็ได้มีการอัพเกรดขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจาก DDR GEN1 มาจนถึงปัจจุบัน คือ DDR GEN4 โดยการอัพเกรดแต่ละครั้งถือว่าเป็นการอัพเกรดใหญ่และจะทิ้งห่างราวๆ 4-5 ปี ถึงจะมีการอัพเกรดอีก ดังนั้นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากอัพเกรดแต่ละครั้ง จะเห็นได้แบบชัดเจนเลย
RAM DDR1 (ปี 2000) เริ่มต้น ถูกเปลี่ยนแปลงจาก SDRAM แบบดั้งเดิมที่รับส่งข้อมูลได้ครั้งเดียวต่อหนึ่งสัญญาณนาฬิกา เป็น DDR SDRAM (โดยย่อมาจาก Double data rate synchronous dynamic random-access memory) ที่รับส่งข้อมูลได้สองครั้งต่อหนึ่งสัญญาณนาฬิกา
– โดย DDR1 มีความเร็วในการส่งสัญญาณข้อมูล หรือ “ความเร็วบัสแรม” เริ่มต้นที่ 133Mhz สูงสุดที่ 400Mhz
– มีพื้นที่ในการรับส่งข้อมูล หรือ “ความจุ” ต่อ 1 แถว เริ่มต้นที่ 128MB และสูงสุดได้ที่ 1GB เท่านั้น
– แต่ใช้ไฟฟ้าในการหล่อเลี้ยงสูงถึง 2.5V เลยทีเดียว
RAM แบบ DDR2 SDRAM
RAM DDR2 (ปี 2003) ถูกอัพเกรดจาก DDR1 โดย DDR2 มุ่งเน้นไปอัพเกรดในส่วนของการออกแบบชิป Module และการใช้พลังงานให้ประหยัดพลังงานยิ่งขึ้น
– มีความเร็วบัสเริ่มต้นที่ 400Mhz สูงสุดที่ 1066Mhz
– มีการใช้พลังงานลดลงจาก 2.5V เหลือเพียง 1.8V
– มีความจุเริ่มต้นต่อที่แถวละ 256MB และสูงสุดได้ถึง 4GB
โดยสมัยที่ Ram DDR2 ออกมานั้น ทำให้คอมพิวเตอร์ที่รองรับ Ram DDR2 สามารถอัพเกรดความจุได้มากขึ้นกว่า DDR1 มากและทำให้คอมพิวเตอร์เร็วขึ้นแบบเห็นได้ชัด
RAM แบบ DDR3 SDRAM รุ่นที่มี Heatsink มาช่วยระบายความร้อน เริ่มยอดนิยม
RAM DDR3 (ปี 2007) ได้ถูกอัพเกรดในทุกๆด้านแบบก้าวให้ดียิ่งขึ้นกว่า DDR2 ราวๆ สองเท่า โดยเฉพาะความเร็ว และการใช้พลังงาน ทำให้ถูกนำไปใช้ในอุปกรณ์พกพาอย่าง แลปท๊อป และ แท๊บเล็ตมากขึ้น ทำให้ Ram DDR3 ยังมีอายุยาวนานถึง 7 ปี จนปัจจุบันยังมีคนใช้อยู่
– มีความเร็วบัสเริ่มต้นที่ 800Mhz และเร็วสูงสุดได้ถึง 2133Mhz โดยบัสยอดนิยมคือ บัส 1333Mhz และ 1600Mhz
– มีการใช้พลังงานลดลงจาก 1.8V เหลือเพียง 1.5V – 1.35V
– เปิดให้ทำการปลดล๊อกความเร็ว (Overclock) ได้มากกว่า DDR2 มากยิ่งขึ้น โดยสามารถ OC ได้สูงสุดถึง 3200Mhz
– มีความจุเริ่มต้นต่อที่แถวละ 1GB และสูงสุดได้ถึง 16GB
RAM แบบ DDR4 SDRAM เริ่มเน้นความสวยงามด้วยไฟ RGB
RAM DDR4 (ปี 2014) ได้ถูกอัพเกรดอีกครั้งหลังจากทิ้งช่วงเป็นเวลานาน โดยการอัพเกรดของ DDR4 นั้นอัพเกรดให้ DDR3 แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นใน DDR3 โดยเฉพาะการ Overclock ที่ DDR4 ทำได้ดีกว่า DDR3 แบบเห็นได้ชัด ทำให้แรม DDR4 นั้นกลายเป็นแรมที่ยอดนิยมที่สุด และยืนระยะได้ยาวนานแทน DDR3 โดยตั้งแต่เปิดตัว 2014 จนถึงปัจจุบัน มีอายุร่วม 8 ปี แล้ว
– มีความเร็วบัสเริ่มต้นที่ 1600Mhz และเร็วสูงสุดได้ถึง 3200Mhz โดยบัสยอดนิยมคือ บัส 2400Mhz และ 2666Mhz
– มีการใช้พลังงานลดลงจาก 1.5V – 1.35V เหลือเพียง 1.2V-1.05V
– การปลดล๊อกความเร็วสามารถทำได้ดีกว่า ง่ายกว่าและสเถียรกว่า สามารถ OC ได้สูงสุดถึง 6666Mhz
– มีความจุเริ่มต้นต่อที่แถวละ 4GB และสูงสุดได้ถึง 64GB
DDR4 ว่าแรงแล้ว เจอ DDR5 ให้แรงในแรงกว่า!
RAM แบบ DDR4 SDRAM เริ่มเน้นความสวยงามด้วยไฟ RGB
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า แรม DDR4 นั้นแรงและยอดนิยมจริงๆ แรงจนทำให้รู้สึกว่า เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว ทั้งด้านความจุ ด้านความเร็ว ด้านการใช้พลังงาน ที่ทำให้รู้สึกว่า ตาเรามองไม่ทันแล้ว แต่เชื่อหรือไม่ว่า กำลังจะมีสิ่งที่เหนือในเหนือกว่า มาให้พวกเราได้ใช้กัน จินตนาการไม่ออกใช่ไหม ว่า มันจะเหนือว่าแค่ไหน? ถ้าที่เราใช้อยู่มันโคตรดี แต่จะมีที่โครตของโครตดีมาอีกล่ะ? เพราะฉะนั้น วันนี้ Gagangtech จะพามาเปิดสเปคของ DDR5 กันครับ
ความเร็วบัสเริ่มต้นมหาโหด!
RAM แบบ DDR5 SDRAM ตัวแรกจากทาง Team Group
แรม DDR4 นั้นมีบัสเริ่มต้นที่ 1600Mhz แต่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในบัสที่ 2133Mhz อัพเกรดเล็กๆ มาเรื่อยๆ 2400Mhz – 2666 Mhz – 2933Mhz จนถึง 3200Mhz ซึ่งความเร็วตั้งแต่ 3200Mhz ก็ถือว่าค่อนข้างเร็วมาก จนเราสัมผัสไม่ได้แล้ว หากใช้ความรู้สึกวัด แทบวัดไม่ได้เลย รวมถึงผล Benchmark เองบางทีก็ไม่สามารถวัดความต่างได้มากมายนัก อีกทั้งยังสามารถ OC เพิ่มได้อีกเรื่อยๆ
แต่ DDR5 นั้นจะ มีความเร็วบัสเริ่มต้นที่สูงถึง 4800Mhz ที่เดิมๆก็เท่ากับ DDR4 แบบ OC ไปแล้ว ยิ่งทำให้นึกไม่ออกเลยว่าหากอัพเกรดเล็ก หรือ OC เพิ่ม จะได้ความเร็วสูงสุดไปถึงขนาดไหน
ความจุเริ่มต้น - สูงสุด มหาโหดเช่นกัน
ความจุสูงสุดแถวละ 128GB มากกว่า DDR4 หลายเท่านัก
*รูปภาพจาก Team Group
ว่ากันว่า ในอดีต ผู้คนมีความต้องการอัพเกรดแรมสูงมาก เพราะแรมไม่พอใช้งานนั่นเอง การอัพเกรดแรมจาก 512GB เป็น 2GB ทำให้เราเพียงพอต่อการใช้งานได้
แต่แรม DDR4 นั้นทำให้ชีวิตของเราแทบจะมีความจุที่ ไม่ได้แค่เพียงพอ แต่เหลือเฟือเลยต่างหาก หากเรามีความจุรวม อยู่ที่ระดับ 32GB แค่นี้ก็ใช้งานได้แบบ เกินๆ ฟินๆ แล้ว
แต่จะเกิดอะไรขึ้น? หากแรม DDR5 มีความจุเริ่มต้นที่ 16GB และสูงสุดได้ถึงแถวละ 128GB! คราวนี้ นอกจากเหลือเฟือแล้ว ยังแบ่งให้เพื่อนบ้านมาช่วยใช้ได้อีกตังหาก! (ฮ่าๆ)
การจัดการพลังงานดีขึ้น
การย้าย PMIC จากเมนบอร์ด มายัง ตัวแรมโดยตรง
*รูปภาพจาก Team Group
นอกเหนือจากการอัพเกรดหลักแล้ว ยังมีการอัพเกรดให้ใช้พลังงานลดลงเล็กน้อย โดยใช้พลังงานลดลงจาก 1.2V เหลือเพียง 1.1V ซึ่งการอัพเกรดส่วนของพลังงานนั้น ต้องบอกเลยว่า DDR4 เองก็ไม่ได้ใช้พลังงานอะไรมากมาอยู่แล้วครับ การกดพลังงานให้ต่ำลงได้อีกจึงทำได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
แต่ก็ถือว่าน่าสนใจ หากกดพลังงานลงอยู่ในระดับ 1.1V ได้ ก็ถือว่า น้อยของน้อยไปอีก แปลว่า นัก OC สามารถ OC ได้เพิ่มขึ้นกว่า DDR4 ได้อีกค่อนข้างเยอะเลย และอาจจะ Underclocks ลงให้ใช้พลังงานต่ำกว่า 1.0V ได้ไม่ยาก โดยที่ความเร็วที่ตกลงไป ยังเหลือเฟือต่อการใช้งาน
แรม DDR5 จึงนอกจากจะมีประโยชน์ต่อนัก OC ในคอมพิวเตอร์แล้ว ยังมีประโยชน์ต่อ Smartphone เพิ่มขึ้นได้อีกอย่างมาก เพราะจะทำให้เราใช้แบตเตอรี่ได้ยาวนานขึ้น นั่นเอง
นอกจากนี้ Ram DDR5 ได้มีการนำส่วนควบคุมพลังงาน หรือ Power Management IC จากเดิมที่อยู่ในเมนบอร์ด นำมาติดตั้งใน Ram โดยตรงเลย ตามทฤษฏี จะทำให้การทำงานราบรื่นยิ่งขึ้น ลดสัญญาณรบกวนลดลง เสถียรมากขึ้น และทำให้ OC ได้ง่ายขึ้นไปอีก
สรุป
นอกเหนือจากที่กล่าวไปข้างต้น ยังมีการอัพเกรดการจัดเรียงชิปเล็กน้อย รวมถึงการเปลี่ยนตำแหน่งบากแรมเล็กน้อย ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ในเมนบอร์ดปัจจุบันในปี 2021 อย่าง Intel Gen11 ชิปเซ็ท Z490 และ AMD Ryzen 5000 X570 ได้ ซึ่งหากต้องการใช้งานแรม DDR5 ล่ะก็ ต้องรอทางผู้ผลิตเมนบอร์ด และ CPU อัพเกรดฮาร์ดแวร์ใหม่เพื่อรองรับ DDR5 ในอนาคตอันใกล้นี้ครับ โดยกำหนดการของ DDR5 น่าจะไม่เกินปลายปี 2021 นี้ ถึง ต้นปี 2022 หน้าครับ
หากชอบบทความของเรา สามารถให้กำลังใจได้ด้วยการ
กดไลค์ GagangTech และติดตามช่อง Youtube GagangTech
– แล้วไว้เจอกันใหม่ ในบทความหน้า สวัสดีครับ –