เจาะลึก!! เมนบอร์ด Intel Core Gen 11 รุ่นใหม่ ในรหัส Z590 ว่ามีอะไรอัพเกรดมาบ้าง ควรค่าแก่การเสียเงินซื้อไหม

ในงาน CES2021 ทีผ่านมา Intel ได้เปิดตัว CPU Intel Core Gen11th เรียบร้อยแล้ว และเป็นไปตามธรรมเนียมเมื่อเปิดตัว CPU รุ่นใหม่มักจะตามมาด้วย เมนบอร์ดชิปเซ็ทรุ่นใหม่ คือ เมนบอร์ดชิปเซ็ท Z590 มาด้วย เพื่ออัพเกรดภาพรวมให้สามารถใช้งานเข้ากันได้ดีกับ CPU รุ่นใหม่นี้ คำถามคือเมนบอร์ด  Intel Core Gen 11 รหัส Z590 นี้อัพเกรดอะไรบ้าง? แล้วมันมีความจำเป็นขนาดต้องเปลี่ยนเมนบอร์ดรุ่นใหม่นี้หรือไม่? วันนี้ แอดมีคำตอบมาให้ทุกคนครับ

INTEL Z590 Hi-End Chipset

เมนบอร์ด Intel Core Gen 11 รหัส Z590 คืออะไร?

Chipset รหัส Z คือชิปเซ็ทสูงสุดของเมนบอร์ดค่าย Intel ที่จะรองรับคุณสมบัติทุกอย่างที่ชิปเซ็ทรุ่นใหม่นี้จะทำได้ รหัสตัวเลข Z+590 คือรหัสเพื่อให้แยกได้ง่ายและชัดเจน ว่าเป็น ชิปเซ็ทของค่ายฟ้านั่นเอง (ค่ายแดง = x570)

เมนบอร์ด Intel Core Gen 11

เจาะลึก เมนบอร์ด Intel Core Gen 11 รหัส z590 อัพเกรดอะไรมาบ้าง?

1. ใช้สถาปัตยกรรมการผลิตแบบใหม่ แต่ไม่ถึงกับใหม่มาก

สถาปัตยกรรม คือ เทคโนโลยีที่ใช้สำหรับสร้าง CPU Intel Core Gen 11th รุ่นใหม่ล่าสุด นี้นั่นเอง

Intel ได้ใช้สถาปัตยกรรมการผลิตแบบใหม่ในการผลิต CPU Core Gen 11 คือ Intel Cypress Cove CPU Cores แต่ไม่ถึงกับใหม่ว้าวเพราะยังเป็น 14nm อยู่ และยังอยู่ในฐานของ Socket LGA1200 อยู่ดี

แต่จะทำให้ IPC (Instruction Per Clock) ดีขึ้นราว 2 เท่า ทำให้การดัน Clock สูงๆ ของ CPU มีประสิทธิภาพทำได้มากขึ้น และส่งผลต่อการเล่นเกมที่ต้องใช้ความแรงของ Single Core มากๆ จะได้เฟรมเรตที่มากขึ้นนั่นเอง

2. พูดถึงการอัพเกรดมาตรฐาน PCI-e เป็น PCI-e 4.0 แบบจริงจังสักที

PCI-e 4.0 มาพร้อมกับ Bandwidth ขนาด 16GT/s ซึ่งให้ความแรงมากกว่า PCI-e 3.0 ประมาณ 2 เท่า สำหรับรายละเอียดของ PCI-e 4.0 ว่ามีความแตกต่างจาก PCI-e 3.0 อย่างไรสามารถดูได้ที่ PCI-E 4.0 ต่างจาก 3.0 อย่างไร

เรื่องของ PCI-e 4.0 นั้นเป็นประเด็นที่ถกเถียงตั้งแต่ Intel Core Gen 10 ออกมาแล้ว เพราะในเมนบอร์ดสำหรับ Gen 10 อย่าง Z490 หลายรุ่นที่มี PCI-e 4.0 ติดตั้งมาให้ตั้งแต่แรก และสามารถใช้ PCI-e 4.0 Switches เพื่อสับเปลี่ยนให้ใช้ PCI-e 3.0 หรือ 4.0 ก็ได้ เพียงแต่มันยังไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากเจ้า Intel Core Gen 10 ตัวดี ดันไม่รองรับ PCI-e 4.0 นั่นเอง

ทำให้ต้องออก Intel Core Gen 11 และเมนบอร์ด Z590 นี้ได้รับการอัพเกรดเทคโนโลยี PCI-e ให้เป็นแบบ PCI-e Gen 4 ทั้งหมดทุกรุ่น เพื่อรองรับมาตราฐาน PCI-e 4.0 ใน CPU Intel Core Gen 11th Rocket Lake อย่างเต็มรูปแบบนั่นเอง  

3. อัพเกรด DMI LINK เพิ่มแบนด์วิทเร็วกว่าเดิม 2 เท่า (คนใช้ SSD หลายตัวต้องอ่าน)

DMI LINK คือ เทคโนโลยีการทำงานร่วมกัน ระหว่าง พอร์ต SSD แบบ M.2 NVMe และ ชิปเซ็ต PCH ของเมนบอร์ด โดย DMI-Link จะมีการอัพเกรดก็ต่อเมื่อมีการอัพเกรด PCI-e ให้เป็นรุ่นใหม่นั่นเอง

โดยปกติแล้วเมนบอร์ด Z490 จะมีเลน 16 เลนสำหรับรองรับการทำงานแบบ x16 สำหรับการ์ดจอ จากนั้นจะมีการเชื่อมต่อแบบ DMI Link แบบ PCI-e 3.0 x4 ไปยัง PCH เพื่อให้เราเชื่อมต่ออุปกรณ์อื่นๆ เช่น SSD แบบ NVMe นั่นเอง

และ PCI-e 3.0 x4 นั้นจะรองรับการถ่ายโอนข้อมูลประมาณ 4 GB/s หรือประมาณ 4000MB/s แต่ในเมนบอร์ดในปัจจุบัน มักจะมี Slot M.2 มาให้มากถึง 2 Slot (Slot สำหรับเสียบ SSD) หากคุณใช้งาน SSD M.2 NVMe มากกว่า 1 ตัวจะมีการแชร์ Bandwidth แบบหารกัน ทำให้เหลือความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลเหลือเพียงสล๊อตละ 2GB/s (2000MB/s) เท่านั้น หมายความว่า หากคุณใส่ SSD ที่มีความเร็วมากกว่า 2GB/s สองตัว จะทำให้ต้องถูก แชร์ความเร็วกันเหลือตัวละไม่เกิน 2GB/s นั่นเอง

Z590 ได้ปรับปรุง DMI-Link เป็นแบบ PCI-e 4.0 x4 ทำให้ Bandwidth ระหว่าง Chipset กับ CPU เพิ่มขึ้นสองเท่า ทำให้การเชื่อมต่อข้อมูลแบบ DMI LINK มีความเร็วมากขึ้นเป็น 8GB/s และทำให้การเชื่อมต่อ SSD NVMe สองตัวสามารถถ่ายโอนข้อมูลได้ด้วยความเร็วสูงสุด 4GB/s (4000MB/s) หมายความว่าต่อไปคุณจะสามารถใช้ SSD PCI-e 3.0 NVMe แรงๆ อย่าง Samsung 970Pro หรือ Corsair MP510 ที่อ่านเขียนข้อมูลได้ความเร็วใกล้เคียง 4GB/s ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แม้จะใส่พร้อมกันทั้งคู่ก็ไม่ได้ถูกลดความเร็วลงเหลือแค่ครึ่งหนึ่ง (2GB/s) นั่นเอง

และถ้าหากต้องการความแรงเต็มพิกัด SSD แบบ PCI-e NVME 4.0 รุ่นใหม่ล่าสุดก็กำลังมาแรง อย่าง Samsung 980PRO ทีอ่านเขียนเร็วถึง 7GB/s <ส่องเสปค SSD Samsung 980Pro ตัวแรง> หากต้องการลองของแรงก็ต้องอัพเกรดเป็น PCI-e 4.0 นะ 

4. อัพเกรด Memory Controller ลากแรมได้ไกลขึ้น

การอัพเกรด Memory Controller เป็นเรื่องที่ปกติมากครับ เพราะ Memory Controller คือส่วนที่ใช้ควบคุมแรมทุกๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ความเร็วบัส ความสเถียร ตลอดจนการ Overclock แรม เมื่อมีการเปิดตัวเมนบอร์ดใหม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องพูดถึงทุกๆครั้ง โดยเจ้า Memory Controller นี้ใช้กับแรม DDR4 ซึ่งมีการเปิดตัวครั้งแรกใน Intel Core มาตั้งแต่ Generation ที่ 6 เมื่อนานมาแล้ว

โดยสมัยนั้นรองรับเริ่มต้นที่ ความเร็วบัส 2133 และขยับมาเป็น บัส 2400 ใน Gen 7 , บัส 2666 ใน Gen 8 , บัส 2933 ใน gen 10 และครั้งนี้ได้อัพเกรดเป็นบัส 3200 เสียที ซึ่งการอัพเกรดครั้งนี้ มีประโยชน์อย่างไร?

โดยปรกติแล้วการใส่แรม DDR4 ระดับเริ่มต้นเลย ที่ราคาไม่แพง เช่น พวกแรมเปลือยต่างๆ หรือแรมติดเครื่อง (แรมที่แถมมา) มักจะเป็นแรมสามัญประจำบ้าน และมีความเร็วบัสตามสเปคของ CPU เช่น คุณใช้ CPU Core I Gen7 ที่รับได้ที่บัส 2400 เมื่อคุณใส่แรมสามัญก็จะเปิดเครื่องติดและทำงานตามสเปคเริ่มต้นจากโรงงานของมัน ถ้าเอาแรมตัวเดิมนี้ ไปใส่ในเครื่อง Gen 6 ก็สามารถใส่ได้เช่นกัน แต่จะสามารถวิ่งความเร็วได้ที่บัส 2133 ที่ Gen 6 รองรับในค่าเริ่มต้นเท่านั้น

เมนบอร์ด Intel Core Gen 11

กลับกัน ถ้าคุณต้องการให้ค่าบัสแรมนี้ เป็นบัสที่ค่าสูงกว่าเสปคเริ่มต้นมาในโรงงาน คุณจะต้องซื้อแรมตัวที่สนับสนุนการเปิดโปรไฟล์ XMP (Extreme Memory Profile) และรับรองความเร็วบัส ตามที่คุณต้องการ

เช่น หากคุณต้องการแรมบัส 3200 คุณจะต้องทำการเปิด XMP เพื่อให้แรมดังกล่าวทำงานได้เต็มตามสเปคของมัน และจะมีความสเถียรสูงเพราะการ XMP คือการ Overclock มาจากโรงงานรับรองความปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าหากคุณคันไม้คันมือ อยาก Overclock ด้วยตนเอง ให้เกินกว่าเสปคข้างกล่องที่ระบุมา ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยการ OC Ram นั้นมีหลายปัจจัยที่จำทำให้ได้เสปคที่สูงกว่าปกติ และทำงานสเถียร ซึ่งปัจจัยเริ่มแรกที่สำคัญเลย ที่จะทำให้แรมของคุณ OC เพิ่มได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิด XMP หรือ OC ด้วยตนเองก็ตาม ก็คือ Memory Controller ในเมนบอร์ด หากเมนบอร์ดของคุณ ไม่รองรับการ OC Ram คุณก็หมดสิทธิ์ และต้องใช้เสปคเริ่มต้นของแรม ตามที่ CPU รองรับนั่นเอง

การอัพเกรดเป็นบัส 3200 ใน CPU Core i Gen 11 รุ่นใหม่นี้ ทำให้ผู้ใช้สามัญประจำบ้าน หรือผู้ใช้ที่ไม่มีเมนบอร์ดที่สามารถ Overclock Ram ได้ สามารถได้ใช้แรมบัสเริ่มต้น อย่าง 3200 (ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง เพราะในอดีตอย่างที่เขียนไว้ด้านบน สมัยก่อน เริ่มต้นที่แค่ 2133 เอง) โดยไม่ต้องไปหาซื้อเมนบอร์ดตัวท๊อปๆ มาใช้งานให้เปลืองเงินเลย และหากมีเมนบอร์ดตัวดีๆ มาด้วยก็สามารถ OC แรมได้เพิ่มขึ้น เพราะค่าเริ่มต้นนั้นก็สูงแล้ว ทำให้สูงขึ้นได้อีกก็ไม่ยากนัก

แต่ทั้งนี้ ตลอดเวลาที่ DDR4 ได้ถูกเปิดตัวและคงอยู่ในตลาดให้เราได้ใช้กันมันก็นานพอสมควรแล้ว นี่อาจจะเป็นปลายยุคของ DDR4 แล้วก็เป็นได้ ซึ่งข่าวคราวของ DDR5 ที่ดีกว่า DDR4 และบัสเริ่มต้นสูงกว่า ประหยัดไฟกว่า ก็กำลังมีข่าวว่าจะเปิดตัวในเวลาอันใกล้ เพราะฉะนั้นหากต้องการเล่น DDR4 ก็ควรจะรับทราบจุดนี้ไว้ด้วยนะครับ เพราะ หาก DDR5 มาจริง ก็ต้องเปลี่ยนเมบอร์ดและ Memory Controller สำหรับ DDR5 อีกชุดที่อัพเกรดใหม่กว่ามากๆ อีกเช่นกัน

5. อัพเกรดชิปกราฟฟิคภายใน CPU หรือที่เรียกกันติดปากว่า การ์ดจอออนบอร์ด!!

อย่างที่ทราบกันว่า Intel ได้มุ่งมั่นที่จะผลิตกราฟฟิคการ์ดของตนเอง และอัพเกรด กราฟฟิคการ์ดออน CPU ให้ดีขึ้น หลังจากที่เคยใช้ Intel UHD630 ซ้ำๆกัน มาอย่างยาวนาน ครั้งนี้จึงได้ฤกษ์อัพเกรดอย่างยิ่งใหญ่ ให้กลายเป็น Intel Iris Xe เสียที แต่ว่า ชิปกราฟฟิคตัวนี้อยู่ใน CPU นะ เพราะฉะนั้น การอัพเกรดเป็น เมนบอร์ด Intel Core Gen 11 รหัส Z590 แต่ไม่ได้อัพ CPU ให้เป็น Gen 11 ก็ไม่มีชิป Intel Iris Xe ตัวนี้อยู่ดี

โดยเจ้าชิปกราฟฟิคตัวใหม่นี้ มันดีกว่า UHD630 มากอยู่แล้ว เทียบความแรงได้ราวๆ การ์ดจอ GT1030 ของ Nvidia ที่ต้องใส่แยกเพิ่มเลย แต่สำหรับชาว PC คงไม่มีประโยชน์อันใดมากมาย ถ้าหากเรามีการ์ดจอแยกตัวเก่งของตัวเองอยู่แล้ว นอกเสียจากเอาไว้เปิดเครื่องให้ติด เวลาที่การ์ดจอแยกเสีย หรืออาจจะใช้เทคโนโลยี Quick Sync ในการสตรีม , ตัดต่อวีดีโอ แต่ Cuda Core ใน การ์ดจอแยกก็สามารถทำได้ดีกว่าอยู่ดี ?? นั่นเป็นเหตุให้ CPU ของ AMD ส่วนใหญ่ ตัดกราฟฟิคออน CPU ทิ้งไป และรหัส F ของ Intel เองก็ตัดทิ้งไป เช่นกัน

แต่สำหรับผู้ใช้โน๊ตบุคส์แบบบางเบา พกพาได้อย่าง Ultrabook ที่ต้องการประหยัดพลังงาน คงจะมีประโยชน์ไม่น้อยหากการ์ดออนบอร์ดของเรา แรงสามารถเล่นเกมได้ประมาณนึง

6. อัพเกรดมาตราฐาน WIFI 6 เป็น WIFI 6E รุ่นใหม่ล่าสุด!!

เมนบอร์ด Intel Core Gen 11 อัพเกรดมาตราฐาน WIFI 6 เป็น WIFI 6E ทำให้มีการเพิ่มย่านสัญญาณแบบ 6GHz  (จากเดิมคือ Dual Band 2.4GHz กับ 5GHz)  และมีความจุของสัญญาณเพิ่มขึ้นเป็น 1200MHz  ทำให้การกวนกันของสัญญาณน้อยลง ในพื้นที่ที่มีการใช้สัญญาณหนาแน่น และมีค่า Ping ที่ต่ำมากๆ ทั้งนี้ ตัว Access Point หรือ เร้าเตอร์ของคุณจะต้องรองรับ WIFI 6E มาตรฐาน  Tri-Band Router แต่ก็ยังไม่ถือว่าอาจจะคุ้มค่าขนาดต้องเปลี่ยนหรือพ่วงเร้าเตอร์รุ่นใหม่ขนาดนั้น หากอินเทอร์เน็ต Wifi 6 ของเรายังใช้งานได้ดี มันก็ค่อนข้างเร็วมากๆ แล้ว แถมบางคนยังใช้สายแลนด้วยซ้ำ  ในส่วนนี้เป็นการอัพเกรดเล็กน้อยมากๆ ที่แอดไม่คิดว่าน่าสนใจขนาดนั้น

สรุป!! ควรอัพเกรดหรือไม่

  • หากต้องการใช้ PCI-e 4.0 จริงๆ อย่างแรกที่ต้องคิดคือ ซื้อ CPU Intel Core Gen 11 เพราะหาก CPU ไม่รองรับ PCI-e 4.0 แม้ว่าคุณจะใช้เมนบอร์ดรุ่นใด ก็หมดสิทธิ์ครับ

  • สำหรับคนที่ใช้ CPU Intel Core Gen 10 อยู่แล้ว หากอัพเกรดเป็น เมนบอร์ด Intel Core Gen 11 รหัส Z590 เพื่อไปใช้เทคโนโลยีใหม่คงจะไม่มีประโยชน์มากมายนัก เพราะไม่ว่า จะเป็น PCI-e 4.0 หรือ Memory Controller รุ่นใหม่ หรือ ชิปกราฟฟิค Irsi Xe รุ่นใหม่ ก็ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่าง Gen 11 และ เมนบอร์ด Z590 หาก CPU เป็นรุ่นเก่า ก็หมดสิทธิ์ที่จะได้ใช้เทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ (ใช้ได้แค่ WiFi 6E ซึ่งไม่คุ้ม)

  • สำหรับคนที่ใช้ Z490 ที่มี PCI-e 4.0 ซ่อนเร้นอยู่ ก็รอลุ้นว่าจะมีการอัพเดท ไบออสใหม่ ให้สามารถใช้ PCI-e 4.0 ได้หรือไม่ ซึ่งจริงๆก็จะอัพเดทให้พร้อมกับให้สามารถใส่ CPU รุ่นใหม่ได้นั่นแหละ หากอัพเดทแล้วแค่ไปซื้อ CPU Intel Core Gen11 มาอัพเกรดเมนบอร์ดเดิม เท่านี้ก็สามารถใช้ PCI-e 4.0 ได้แล้ว 

  • สำหรับคนที่จะจัดเสปคใหม่ ให้มองหา เมนบอร์ด Intel Core Gen 11 รหัส Z590 เลยเพราะว่าอัพเกรดมาจาก Z490 แทบทุกอย่าง แถมอาจจะได้ดีไซน์สมัยใหม่สวยกว่ารุ่นก่อนหน้าก็ได้ หรือไม่ก็ย้ายไป X570 ของ AMD เลยก็ได้ เพราะสเปคไม่แพ้กัน และรองรับ PCI-e 4.0 เหมือนกัน

  • ส่วน CPU เลือกเอาตามใจชอบดีกว่าครับ เพราะ Intel Core Gen 11 กับ Gen 10 มีสิ่งที่แตกต่างกัน และทดแทนกันไม่ได้ เช่น Intel Core I9 Gen 11 ความเร็ว Clock อาจจะสูงกว่า มี IPC ที่ดีกว่า ลากได้ไกลมากกว่า แต่ก็ถูกตัด คอร์ออกเหลือเพียง 8 Core เท่านั้น เทียบกับ Gen 10 ที่ ความเร็ว Clock ก็ไม่ได้ แย่ แต่มีคอร์มากถึง 10 Core  

อย่าลืมกดไลค์และกดติดตาม ในเฟสบุคส์ >> GagangTech   และ Youtube  GagangTech จะได้ไม่พลาดข่าวสารและกิจกรรมดีๆ นะครับ 

 

– It’s Up to Your Money –

This site uses cookies to offer you a better browsing experience. By browsing this website, you agree to our use of cookies.